ตัวแปร และสำนักคิดเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ของ ตัวแปรการผลิต

นักเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสสิค ให้การตีความในเชิงเศรษฐศาสตร์คลาสสิคที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบันว่า คำว่า “ตัวแปร” ไม่เคยปรากฏมาก่อนจนกระทั่งยุคคลาสสิคสิ้นสุดลง ตลอดจนไม่พบบรรญัติศัพท์นี้ในวรรณกรรมจากยุคดังกล่าวเช่นกัน[5]

ดังนั้น เมื่อจะต้องตัดสินว่าตัวแปรใดเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด นิยามของตัวแปรการผลิตจากสำนักคิดต่าง ๆ จึงมีลักษณะตายตัวในตัวเอง

เศรษฐศาสตร์สำนักฟิซิโอแครต

ฟิซิโอแครต (มาจากคำศัพท์กรีกโบราณ “ผู้บริบาลธรรมชาติ”) เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาในยุคเรืองปัญญาแห่งศตวรรษที่ 18 โดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อว่าความมั่งคั่งของประชาชาตินั้นล้วนขึ้นอยู่กับมูลค่าของ “ที่ดินการเกษตร” หรือ “การพัฒนาที่ดิน” และเน้นว่าควรมีการกำหนดราคาผลผลิตทางการเกษตรในระดับสูง

เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค

เศรษฐศาสตร์คลาสสิคแบบอดัม สมิธ เดวิด ริคาร์โด และนักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ นั้น นิยามตัวแปรการผลิตโดยเน้นไปที่ทรัพยากรเชิงกายภาพ และถกกันในแง่การกระจายตัวของต้นทุน ตลอดจนมูลค่าของตัวแปรเหล่านั้น สมิธและริคาร์โดมักอ้างถึง “องค์ประกอบของราคา”[6] ในฐานะต้นทุนของสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ที่ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติ - สินค้าที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติเช่นน้ำ อากาศ ดิน แร่ธาตุ พืช สัตว์ และภูมิอากาศ ซึ่งใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้เจ้าของที่ดินอยู่ในรูปของค่าเช่า ความภักดี ค่านายหน้า หรือค่าความนิยม
  • แรงงาน – แรงกายของมนุษย์ที่ใช้ในการผลิต ซึ่งรวมถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการตลาด ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้แก่แรงงานของบุคคลอื่น ตลอดจนรายได้ที่ตัวแรงงานเองได้รับ เรียกว่าสินจ้าง
  • ทุน - ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าอื่น ทั้งนี้รวมถึงเครื่องมือ เครื่องจักร และอาคาร ทุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทุนคงที่และทุนหมุนเวียน ทุนคงที่ใช้เพื่อลงทุนเพียงครั้งเดียว เช่นลงทุนในเครื่องมือและเครื่องจักร ในขณะที่ทุนหมุนเวียนประกอบไปด้วยสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง หรือเงินสด ตลอดจนวัตถุดิบ

นักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิคมักใช้คำว่า “ทุน” เมื่อเอ่ยถึงเงิน อย่างไรก็ดี เงินไม่นับเป็นตัวแปรการผลิตโดยนัยยะของทุน เนื่องจากเงินมิได้ถูกนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นโดยตรง[7] ผลตอบแทนที่ได้จากเงินกู้ยืมเรียกว่าดอกเบี้ย ในขณะที่ผลตอบแทนที่เจ้าของกิจการได้รับจากทุน (เช่นเครื่องมือ) นั้น เรียกว่ากำไร (ดูเพิ่มเติมเรื่อง ผลตอบแทน)

เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์

บทความนี้เกี่ยวข้องกับ
เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์
แนวคิด
หัวข้อ
เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมากซ์

มากซ์มีทัศนะว่า “ตัวแปรพื้นฐานของกระบวนการแรงงาน” หรือ “พลังการผลิต” นั้น ได้แก่

  • แรงงาน
  • วัตถุทางแรงงาน (วัตถุที่ถูกแปรรูปโดยแรงงาน)
  • เครื่องมือทางแรงงาน (หรือ ปัจจัยทางแรงงาน)[8]

“วัตถุทางแรงงาน” หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ รวมถึงที่ดิน ในขณะที่ “เครื่องมือทางแรงงาน” คือ เครื่องไม้เครื่องมือในนัยยะโดยกว้าง ซึ่งรวมถึงอาคารโรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และวัตถุอื่น ๆ ที่ทำจากมนุษย์ อันมีส่วนช่วยในการผลิตสินค้าและบริการของแรงงาน

ทัศนะนี้ดูคล้ายกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับสายคลาสสิคและสายร่วมสมัยอื่น ๆ นั้น อยู่ที่ว่า มากซ์มีการแยกประเภทอย่างชัดเจนระหว่าง แรงงานที่ได้ลงแรงใช้ไป กับ “พลังแรงงาน” ของแต่ละบุคคล หรือที่เรียกกันว่า ความสามารถในการทำงาน ดังนั้น แรงงานที่ได้ลงแรงใช้ไปจึงมีความหมายสมัยใหม่ว่าเป็น “ความอุตสาหะ” หรือ “บริการทางแรงงาน” ในขณะที่พลังแรงงานหมายถึง ตัวแปรสต็อก ซึ่งสามารถนำมาสร้างตัวแปรไหลเวียนของแรงงานอีกทอดหนึ่ง

แรงงาน (มิใช่พลังแรงงาน) เป็นตัวแปรการผลิตที่มีความสำคัญสำหรับมากซ์ตลอดจนพื้นฐานทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมากซ์ การจ้างพลังแรงงานซึ่งมีการจัดการและการกำกับดูแลอย่างมีระบบ (มักดูแลโดย “ทีมผู้บริหาร”) จะทำให้ได้เพียงผลลัพธ์ในรูปการผลิตสินค้าและบริการ (“มูลค่าใช้สอย") เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณแรงงานที่ได้ลงแรงใช้ไปอย่างแท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับนัยยะความสำคัญของข้อขัดแย้ง หรือข้อตึงเครียด ในตัวกระบวนการทางแรงงานเอง

เศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิค

เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค เป็นหนึ่งสาขาย่อยของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มีแนวคิดตั้งต้นเรื่องตัวแปรการผลิตที่ประกอบไปด้วยที่ดิน แรงงาน และทุน เหมือนกับเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค อย่างไรก็ดี แนวคิดสายนีโอคลาสสิคมีการพัฒนาทฤษฎีมูลค่า และทฤษฎีการกระจายตัว ที่เป็นทางเลือกอีกด้วย นักเศรษฐศาสตร์สายนี้ได้เสนอจำนวนตัวแปรการผลิตเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง)

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างเศรษฐศาสตร์จุลภาคสายคลาสสิคและสายนีโอคลาสสิค มีดังต่อไปนี้

  • ทุน - มีหลายความหมาย ซึ่งหมายรวมถึงทุนทางการเงินที่ใช้ในการระดมทุนเพื่อนำมาดำเนินงานและขยายธุรกิจ อย่างไรก็ดี นิยามทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่นั้น “ทุน” (โดยไม่มีการนับคุณสมบัติอื่นใด) หมายถึงสินค้าที่สามารถนำมาใช้ผลิตสินค้าอื่นต่อไป และนับเป็นผลจากการลงทุน ตัวอย่างเช่น เครื่องจักร ถนน โรงงาน โรงเรียน โครงสร้างพื้นฐาน และอาคารสำนักงาน ซึ่งผลิตหรือสร้างโดยมนุษย์อันจะนำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการในอนาคต
  • ทุนคงที่ - โดยทั่วไปรวมถึงเครื่องจักร โรงงาน อุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ อาคาร คอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการผลิตเชิงเศรษฐศาสตร์ในอนาคต ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากนับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ว่าเป็นทุนคงที่อีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ใช้ในการจัดทำบัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ โดยสรุปแล้ว ทุนประเภทนี้จะไม่มีการแปรรูปหรือแปรสภาพอันเป็นผลมาจากการผลิตสินค้า
  • ทุนหมุนเวียน - หมายรวมถึงสินค้าในคลังที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ที่จะนำมาใช้สอยเชิงเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ หรือจะถูกนำมาใช้เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสำเร็จรูปในอนาคตอันใกล้ เหล่านี้เรียกว่าเป็นสินค้าคงคลัง อนึ่ง คำว่า “ทุนหมุนเวียน” ยังมีความหมายในแง่สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง (เช่นเงินสด) ซึ่งจำเป็นต้องมีไว้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเฉพาะหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (เช่น จ่ายเงินเดือน ชำระใบแจ้งหนี้ ชำระภาษี จ่ายดอกเบี้ย...) อย่างไรก็ตาม ทุนชนิดนี้มักมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ หรือมีการแปรรูป ในระหว่างกระบวนการผลิต
  • ทุนทางการเงิน – คือปริมาณของเงินที่ผู้ก่อการธุรกิจใช้ลงทุนในกิจการ คำว่า “ทุนทางการเงิน” มักหมายถึงมูลค่าสุทธิของกิจการ (สินทรัพย์ลบกับส่วนของหนี้สิน) ที่ผูกอยู่กับเจ้าของธุรกิจ อย่างไรก็ดี ศัพท์คำนี้มักรวมถึงเงินที่กู้ยืมจากผู้อื่นด้วย
  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี – กว่าหนึ่งศตวรรษที่นักเศรษฐศาสตร์ตระหนักว่า ทุนและแรงงานมิได้มีส่วนในการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงลำพัง หลักคิดนี้สะท้อนให้เห็นจากการคำนวณผลิตภาพการผลิตรวม และอัตราการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจของโซโลว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า ฟังก์ชันการผลิต อันจะนำมาใช้อธิบายสัดส่วนคุณูปการของทุนและแรงงาน แต่กระนั้นก็ยังมีตัวแปรคุณูปการที่ไม่สามารถอธิบายได้ปรากฏอยู่ ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หนังสือที่เขียนโดยไอเรสและวารร์ (2009) มีการนำเสนอกาลานุกรมแสดงถึงประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานขั้นปฐมภูมิ (หรืออนุพลศาสตร์ของเอ็กเซอร์จี) ไปสู่พลวัตรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ของประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรีย และญี่ปุ่น นั้น เผยให้เห็นพัฒนาการที่ดีด้านความแม่นยำของโมเดลคำนวณ ดังนั้น เมื่อนำพลวัตรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ มาใช้ในฐานะตัวแปรการผลิต จะทำให้สามารถคำนวณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตซ้ำได้อย่างแม่นยำพอควร นอกจากนี้การคำนวณด้วยวิธีดังกล่าวทำได้โดยปราศจากการอ้างอิงปัจจัยภายนอก ตลอดจนไม่มีค่าคำนวณเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อธิบายไม่ได้เช่นกัน จึงพิสูจน์แล้วว่าโมเดลของไอเรสและวารร์ สามารถแก้ไขข้อบกพร่องจากทฤษฏีการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซโลว์ได้ดี[9]

เศรษฐศาสตร์สำนักนิเวศวิทยา

เศรษฐศาสตร์นิเวศวิทยา เป็นสำนักทางเลือกของสำนักนีโอคลาสสิค ซึ่งมีการบูรณาการกฏข้อแรกและข้อสองจากกฏของอุณหพลศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมที่ กฎของอุณหพลศาสตร์) เพื่อนำมาเข้าสูตรระบบเศรษฐกิจที่สะท้อนความเป็นจริงยิ่งขึ้น ในขณะที่ตระหนักถึงข้อจำกัดพื้นฐานทางกายภาพไปพร้อม ๆ กัน และนอกเหนือจากหลักคิดเรื่องประสิทธิภาพในการจัดสรรของเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสสิคแล้วนั้น สำนักนิเวศวิทยายังเน้นถึงความยั่งยืนในขนาดการกระจายตัว ตลอดจนความเป็นธรรมของการกระจายตัวอีกด้วย ความแตกต่างอีกประการของเศรษฐศาสตร์สำนักนิเวศวิทยาและทฤษฎีสายนีโอคลาสสิค อยู่ที่นิยามของตัวแปรการผลิต ซึ่งนำมาใช้ทดแทนกันดังต่อไปนี้[10][11]

  • สสาร – วัตถุซึ่งใช้ในการผลิตสินค้า สสารสามารถนำมาใช้หมุนเวียนโดยใช้กระบวนการสกัดรูป หรือโดยกระบวนการแปรรูป แต่สสารในตัวของมันเองไม่สามารถสร้างขึ้นหรือทำลายทิ้งได้ จึงทำให้สามารถตั้งเพดานปริมาณการเบิกออก และปริมาณการใช้งานของวัตถุดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ สสารที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จึงมีปริมาณรวมคงที่ และเมื่อใช้สสารที่มีอยู่จนหมดไป ก็ไม่สามารถนำมาผลิตสิ่งใดได้อีกจนกว่าจะมีการนำผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตก่อนหน้านั้นมาแปรรูป หรือนำกลับมาใช้ใหม่
  • พลังงาน – อวัตถุเพื่อการผลิตขาเข้า มีคุณสมบัติทางกายภาพ ผู้ผลิตสามารถดึงรูปแบบพลังงานที่หลากหลายมาใช้สอยภายใต้ขนาดการผลิตที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณประโยชน์ของพลังงานนั้น ๆ ที่ต้องใช้ในการรังสรรค์สินค้า อนึ่ง ภายใต้กฏแห่งเอนโทรปี พลังงานมีแนวโน้มที่จะสูญเสียอรรถประโยชน์เมื่อเวลาผ่านไป (เช่น ไฟฟ้า ซึ่งเป็นรูปพลังงานที่มีประโยชน์ยิ่ง ใช้ในการเดินเครื่องจักรซึ่งใช้ผลิตตุ๊กตาหมียัดไส้ อย่างไรก็ดี ในกระบวนผลิตนั้นเอง ไฟฟ้าบางส่วนถูกแปรสภาพเป็นความร้อน จึงทำให้ใช้ประโยชน์จากพลังงานได้ไม่เต็มที่) พลังงานมีส่วนคล้ายสสาร ในข้อที่ว่าพลังงานไม่สามารถสร้างขึ้นหรือทำลายทิ้งได้ ดังนั้นจึงมีเพดานการใช้สอยด้วยเช่นกัน
  • ภูมิปัญญาในการออกแบบ - เป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า – การออกแบบที่ดีขึ้น จะทำให้ผลิตผลมีประสิทธิภาพและคุณประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น การออกแบบโดยทั่วไปถือเป็นพัฒนาการของการออกแบบก่อนหน้านั้น เนื่องจากองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตามกาลเวลาย่อมเพิ่มพูนขึ้น และนั่นเป็นสิ่งที่เศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิคเรียกว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ความสำคัญอีกประการของเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศวิทยา คือแนวคิดที่ระบุว่า: ณ อัตราสูงสุดที่สสารและพลังงานมีการดูดซึมอย่างยั่งยืนนั้น หนทางเดียวที่จะเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต คือการเพิ่มภูมิปัญญาในการออกแบบ แนวคิดนี้เป็นแกนกลางของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักนิเวศวิทยา ซึ่งเรียกว่า การเติบโตที่ไม่รู้จบย่อมเป็นไปไม่ได้[10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตัวแปรการผลิต http://douglassocialcredit.com/resources/resources... http://knol.google.com/k/produktionsfaktoren# http://www.polskawalczaca.com/library/ALOR%20-%20M... http://www.ewi.uni-koeln.de/fileadmin/user_upload/... http://energiesteuer.net/artikel/pdf_artikel/porto... https://books.google.com/?id=BxaSUfPV2WkC&pg=PA201 https://web.archive.org/web/20100123184808/http://... https://web.archive.org/web/20100209091428/http://... https://ideas.repec.org/a/sej/ancoec/v821y2015p152...